แนวทางการตรวจเครนและปั้นจั่น ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด อัปเดต 2024

แนวทางการตรวจเครนและปั้นจั่น ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

หลายคนน่าจะเคยเห็นข่าวอุบัติเหตุรถเครน หรือ ปั้นจั่น ชำรุดในระหว่างดำเนินงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างกันมาบ้างใช่ไหมครับ ?  แน่นอนว่าถ้าหากเกิดอุบัติเหตุหนึ่งครั้งก็จะตามมาด้วยความเสียหายที่มีมูลค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็น ความเสียหายที่ได้รับทางร่างกาย หรือ ความเสียหายทางทรัพย์สินก็ตาม และเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิด การทดสอบปั้นจั่นและเครื่องจักรที่ใช้ดำเนินงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่นายจ้างและลูกจ้างทุกคนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้

และเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในที่ทำงาน ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ วันนี้ผมตั้งใจจะพาทุกคนไปรู้จักกับแนวทางการทดสอบปั้นจั่นที่ถูกต้องตามที่กฎหมายที่ทางกรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลยครับ 

ทำความรู้จักกับการทดสอบปั้นจั่น 

เครน หรือ ปั้นจั่น เป็นหนึ่งในเครื่องจักรที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพราะสามารถอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน ช่วยทุ่นแรง และเคลื่อนย้ายวัตถุที่มีน้ำหนักมากได้ โดยทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้มีประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ในปี 2554 เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการทดสอบปั้นจั่นให้กับนายจ้างและวิศวกร ซึ่งการทดสอบปั้นจั่นตามที่กฎหมายกำหนดจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในที่ทำงานให้กับทุก ๆ ฝ่าย 

การตรวจสอบและการทดสอบปั้นจั่นต้องทำอะไรบ้าง 

สำหรับการทดสอบปั้นจั่นผมขอแยกออกเป็น  3 ข้อใหญ่ ๆ  ได้แก่

1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดสำหรับทดสอบปั้นจั่น 

กฎหมายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบปั้นจั่นมีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ 

  • ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น 2554 
  • กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ 2564 

ทั้งนี้การทดสอบปั้นจั่นต้องดำเนินการโดยวิศวกรเท่านั้น โดยต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงและประกาศของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 

2. เอกสารรายงานการทดสอบปั้นจั่น 

นายจ้างจำเป็นที่จะต้องมีเอกสารเพื่อยืนยันว่าตนเองปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเอกสารที่ใช้ยืนยัน ได้แก่

  • รายงานการทดสอบปั้นจั่น โดยต้องได้รับการับรองจากวิศวกรเครื่องกล ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น
  • สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
  • ภาพถ่ายของวิศวกรในขณะทำการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น 

3. ความถี่ในการทดสอบปั้นจั่น 

สำหรับความถี่ในการทดสอบสามารถแบ่งได้ตามประเภทและลักษณะการใช้งานครับ โดยแบ่ง 4 ประเภท ได้แก่ 

  • ปั้นจั่นที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง 

สำหรับปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้างที่ผู้ผลิตกำหนดพิกัดยกปลอดภัยไม่เกิน 3 ตัน กำหนดให้มีการทดสอบทุก ๆ 6 เดือน และ ปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้างที่ผู้ผลิตกำหนดพิกัดยกปลอดภัยมากกว่า 3 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน กำหนดให้มีการทดสอบทุก ๆ 3 เดือน 

  • ปั้นจั่นที่ใช้สำหรับงานอื่น ๆ 

สำหรับปั้นจั่นที่ใช้ในงานอื่น ๆ ที่ผู้ผลิตกำหนดพิกัดยกปลอดภัยไม่เกิน 3 ตัน กำหนดให้มีการทดสอบทุก ๆ 1 ปี และ ปั้นจั่นที่ผู้ผลิตกำหนดพิกัดยกปลอดภัยมากกว่า 3 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน กำหนดให้มีการทดสอบทุก ๆ 6 เดือน และ ปั้นจั่นที่ผู้ผลิตกำหนดพิกัดยกปลอดภัยมากกว่า 50 ตัน กำหนดให้มีการทดสอบทุก ๆ 3 เดือน 

  • ปั้นจั่นที่ไม่มีพิกัดยกปลอดภัย 

สำหรับปั้นจั่นที่ผู้ผลิตไม่ได้กำหนดพิกัดยกปลอดภัยไว้ นายจ้างต้องให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดพิกัดยกปลอดภัย รายละเอียดวิธีการใช้งาน วิธีเก็บรักษาและซ่อมบำรุง รวมไปถึงความถี่ในการทดสอบเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน 

  • ปั้นจั่นที่ชำรุด หรือ หยุดใช้งาน 

สำหรับปั้นจั่นที่เพิ่งซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อย หรือ ปั้นจั่นที่หยุดใช้งานมากเป็นระยะเวลานานเกิน 6 เดือน กฎหมายกำหนดให้มีการทดสอบใหม่ก่อนนำไปใช้งานจริง 

น้ำหนักวัตถุที่ใช้สำหรับทดสอบปั้นจั่น 

แน่นอนครับว่าการทดสอบปั้นจั่นต้องเกี่ยวข้องกับน้ำหนักวัตถุ โดยน้ำหนักวัตถุที่ใช้สำหรับทดสอบปั้นจั่นจะเป็นตามอายุการใช้งาน ได้แก่ 

1. ปั้นจั่นที่ผ่านการใช้งานแล้ว 

กฎหมายกำหนดให้นายจ้างทดสอบการรับน้ำหนักของเครนที่ 1.25 เท่าของน้ำหนักที่ใช้งานจริงสูงสุด โดยไม่เกินพิกัดยกปลอดภัยที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ และสำหรับปั้นจั่นที่ผู้ผลิตไม่ได้กำหนดพิกัดยกปลอดภัย นายจ้างต้องให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดพิกัดยกในการทดสอบปั้นจั่น 

2. ปั้นจั่นใหม่ 

  • ปั้นจั่นที่ผู้ผลิตกำหนดพิกัดยกปลอดภัยไว้ ไม่เกิน 20 ตัน ให้ทดสอบการรองรับน้ำหนักที่ 1 เท่า และไม่เกิน 1.25 เท่า 
  • ปั้นจั่นที่ผู้ผลิตกำหนดพิกัดยกปลอดภัยไว้ มากกว่า 20 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน  ให้ทดสอบการรองรับน้ำหนักเพิ่มอีก 5 ตัน จากค่าพิกัดยกปลอดภัยที่กำหนดไว้ 

สรุป 

เพราะการทดสอบปั้นจั่นเป็นตัวช่วยที่จะเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน ช่วยลดความรุนแรง และลดมูลค่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ผมแนะนำให้ทุกคนให้ความสำคัญและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพราะถ้าหากนายจ้างคนไหนที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรืออาจจะทั้งจำทั้งปรับเลยก็ได้นะครับ 

สุดท้ายนี้ถ้าหากคุณไม่อยากพลาดข่าวสาร และสาระดี ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง รถเครน และปั้นจั่นสามารถติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ EK CRANE เรามีอัปเดตสาระน่ารู้ใหม่ ๆ ให้อยู่เสมอ 

เอกเครน โลจิสติกส์ ผู้นำด้านบริการเช่ารถเครนทุกขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรามีทีมงานตลอดให้บริการอยู่ตลอด สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

เราให้ทีมเซลล์ติดต่อกลับหาคุณได้
ใส่เบอร์โทรด้านล่างได้เลย