กฎหมาย จป. หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย จะมีอัปเดตอะไรบ้างในปี พ.ศ. 2567 ถ้าอยากรู้ผู้รับเหมาต้องอ่าน!
ทำความรู้จัก กฎหมาย จป. คืออะไร
กฎหมาย จป. คือ กฎกระทรวงเรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 2 โดย จป. จะทำหน้าที่ในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
จป. แบ่งออกเป็นกี่ระดับ
จป. หรือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จะมีการแบ่งแยกสัดส่วนการทำงานกันอย่างชัดเจน สามารถแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- จป. ระดับบริหาร
- จป. ระดับหัวหน้างาน
- จป. ระดับเทคนิค
- จป. ระดับเทคนิคขั้นสูง
- จป. ระดับวิชาชีพ
โดยในแต่ละระดับนั้นก็จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะแบ่งจากสาขาอาชีพที่ได้เรียนรู้กันมา และในแต่ละสาขาของตนเองจะมีการทดสอบ รวมถึงปรับระดับของตนเองอยู่เสมอ
หน้าที่และขอบเขตการทำงานของ จป.
สำหรับหน้าที่และขอบเขตการทำงานของ จป. โดยหลัก ๆ แล้วมีประมาณ 10 ขั้นตอน ได้แก่
- ทำการตรวจและแนะนำให้กับนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย สอดคล้องถูกต้องกับความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
- วิเคราะห์ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในที่ทำงาน เช่น ในส่วนของระบบไฟฟ้า น้ำประปา อาคารสถานที่ ซึ่งทุกอย่างจะต้องถูกประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วนทั้งหมด
- วิเคราะห์การทำงาน โดยมองจากจุดเด่นและจุดด้อยในการทำงาน กำหนดมาตรฐานในการทำงาน และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดเสนอต่อผู้ว่าจ้าง
- อบรมความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ และพนักงานทุกแผนก รวมถึงทุกตำแหน่งถึงการดูแลความปลอดภัย และป้องกันอันตรายจากสิ่งที่จะเกิดขึ้น
- นำเสนอแผนและโครงการในเรื่องของผลกระทบ และความปลอดภัย ให้กับนายจ้าง
- ทำการประเมินและตรวจสอบสถานที่ประกอบการ สถานที่ทำงาน
- ร่วมตรวจประเมินสถานที่ทำงาน ทั้งเรื่องของสภาพแวดล้อม พร้อมเอกสารในการดูแลความปลอดภัยทั้งหมด
- เมื่อเกิดเหตุการณ์ หรืออันตรายต่าง ๆ หน่วยงานต้องรีบทำการประเมินและเสนอกับหน่วยงาน เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ โดยต้องลดความเสี่ยงหรือปัญหาให้ได้มากที่สุด
- พัฒนาความปลอดภัยในหน่วยงานให้ได้มาตรฐาน
- รวบรวมสถิติ หรือข้อมูลต่าง ๆ ส่งให้นายจ้าง ประเมินการวางแผน ระบบความปลอดภัยให้มั่นคง เพื่อลดอัตราการสูญเสีย
กฎหมาย จป. 2567 มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง
“กฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2565”
กฎกระทรวงฉบับนี้ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 60 วันนับจากวันที่ประกาศ ซึ่งตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้ออกประกาศและยกเลิกฉบับเก่า
สำหรับกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการด้านความปลอดภัยค่อนข้างมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
- หมวดที่ 1 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
กฎหมายใหม่ได้แบ่งประเภทของ จป. ออกเป็น 2 ประเภท คือ
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยตำแหน่ง แบ่งเป็น
- หัวหน้างาน
- บริหาร
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยหน้าที่เฉพาะ แบ่งเป็น
- เทคนิค
- เทคนิคขั้นสูง
- วิชาชีพ
กฎกระทรวงจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัย ในสถานประกอบกิจการ จป. หัวหน้างาน ตามกฎหมาย 2565 ระบุหน้าที่ของ จป. ระดับหัวหน้างานทั้งหมด 10 ข้อ โดยมีสิ่งที่เพิ่มมาจากกฎหมายเก่าคือ จป. หัวหน้างานจะต้องเป็นคนจัดทำคู่มือความปลอดภัยฯ และทบทวนคู่มือทุก 6 เดือน
อีกทั้งกฎหมายใหม่ได้มีการระบุหน้าที่ของ จป. ระดับวิชาชีพทั้งหมด 12 ข้อ โดยเพิ่มมา 1 ข้อจากกฎหมายเก่าคือ ให้ความรู้และอบรมด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม แก่ลูกจ้างก่อนเข้าทำงานและระหว่างทำงาน เพื่อทบทวนความรู้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้กฎหมายยังได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติตามระดับตำแหน่งงานอีกด้วย
- หมวดที่ 2 คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของสถานประกอบกิจการ
- ต้องได้รับการฝึกอบรมภายใน 60 วันนับจากวันแต่งตั้ง เว้นแต่เคยผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว
- วาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี
- ปิดประกาศรายชื่อ และหน้าที่รับผิดชอบไม่น้อยกว่า 15 วัน
- มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
- หมวดที่ 3 หน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
กฎหมายใหม่มีการเพิ่มเติม นอกจากจะต้องมีหน่วยงานความปลอดภัยแล้ว จะต้องจัดให้มีผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยประจำสถานประกอบกิจการ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะการบริหาร และรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน โดยผู้บริหารหน่วยงานต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
- เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย และต้องไม่เป็น จป. วิชาชีพ
- หากเคยเป็น จป. วิชาชีพ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย สามารถแต่งตั้งได้เลย
- หมวดที่ 4 การขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย
- นายจ้างจะต้องเอารายชื่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับ รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย ไปขึ้นทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมเอกสาร ภายใน 30 วัน นับจากวันที่แต่งตั้ง
- กรณีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทุกระดับ หรือผู้บริหารพ้นจากตำแหน่งหรือหน้าที่ นายจ้างจะจ้องแจ้งต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ทราบ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่พ้นจากหน้าที่หรือตำแหน่ง
- หมวดที่ 5 การแจ้งและการส่งเอกสารทำงาน
- คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย ให้ส่งสำเนาภายใน 15 วัน นับจากวันที่แต่งตั้ง
- รายงานผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับเทคนิค เทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่ 30 มิถุนายน ของทุกปี และ ครั้งที่ 2 ภายใน 30 วัน นับแต่ 31 ธันวาคม ของทุกปี
สรุป
กฎหมาย จป. 2567 ที่มีการอัปเดตเพิ่มเติมนั้นมีการเพิ่มหัวข้อบทบาทหน้าที่ของ จป. แต่ละระดับให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น กฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่องค์กร หรือหัวหน้างานจะต้องจัดให้ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานใหม่ ได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานก่อนเริ่มงาน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้