หมวกนิรภัยมีกี่แบบ
หมวกนิรภัย หรือหมวกเซฟตี้ (Safety Helmet) คือ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) หรืออุปกรณ์นิรภัยประเภทหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับศีรษะในขณะทำงาน โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ จะต้องสวมใส่หมวกนิรภัยนี้ เพราะเป็นกฎข้อบังคับส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของกระทรวงแรงงาน นายจ้างหรือสถานประกอบการต้องจัดหาให้พนักงานได้สวมใส่หมวกนิรภัย รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานบนที่สูง เช่น รุกขกร (หมอต้นไม้) ต้องสวมใส่หมวกหมวกนิรภัยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าหมวกนิรภัยถือเป็นอุปกรณ์หรือไอเท็มได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับสวมใส่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับศีรษะ (Head Protection) เพื่อให้ทุกคนได้รู้ข้อมูลของหมวกนิรภัยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หมวกนิรภัยมีกี่แบบ ประโยชน์ของการสวมใส่หมวกนิรภัยในสถานที่ทำงานเพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดกับศีรษะ รวมถึงความหมายของสีหมวกนิรภัยและการเลือกใช้หมวกนิรภัยให้เหมาะกับงาน
ประเภทหมวกนิรภัย
ตามมาตรฐาน ANSI Z89.1-2003 แบ่งหมวกนิรภัยออกได้ตามลักษณะของการกันกระแทก และการกันไฟฟ้า โดยทั่วไป หมวกนิรภัยควรจะกันกระแทกได้ในแบบประเภท 1 หรือไม่ก็ประเภทที่ 2
- หมวกนิรภัย ประเภทที่ 1 หมวกนิรภัยประเภทนี้จะถูกออกแบบให้สามารถกันกระแทกจากด้านบน แต่ไม่ได้ออกแบบสำหรับกันกระแทกจากด้านข้าง
- หมวกนิรภัย ประเภทที่ 2 หมวกนิรภัยประเภทนี้จะถูกออกแบบให้สามารถกันกระแทกได้ทั้งจากด้านบนและด้านข้าง
- หมวกนิรภัย ประเภทที่ E (Electrical) ดังนั้นหมวกนิรภัยประเภทนี้จึงออกแบบเพื่อให้สามารถกันไฟฟ้าแรงสูงได้ดี โดยจะต้องผ่านการทดสอบการกันไฟฟ้าได้ที่ 20,000 โวลต์
- หมวกนิรภัย ประเภทที่ G (General) หมวกนิรภัยประเภทนี้สามารถถูกใช้เพื่อช่วยลดอันตรายจากไฟฟ้าแรงต่ำได้ โดยหมวกนิรภัยประเภทนี้จะต้องผ่านการทดสอบการกันไฟฟ้าได้ที่ 2,200 โวลต์
- หมวกนิรภัย ประเภทที่ C (Conductive) หมวกนิรภัยประเภทนี้ไม่กันไฟฟ้า และไม่มีการทดสอบการกันไฟฟ้า สามารถทนแรงกระแทกได้อย่างเดียว
ประโยชน์ของหมวกนิรภัย
ประโยชน์ของการสวมใส่หมวกนิรภัย มีดังนี้
- ช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ : หมวกนิรภัยเป็นหมวกที่มีลักษณะแข็ง (Hard Hat) ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติงานในสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บทะลุศีรษะ (Injury Penetration) การบาดเจ็บจากกระแสไฟฟ้า (Electric Injury) และช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ จากวัตถุที่ร่วงหล่นหรือลอยมาโดนศีรษะ
- ช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากการลื่นไถลหรือหกล้ม : การสวมใส่หมวกนิรภัยขณะทำงานในโรงงานผลิตสินค้าประเภทของเหลวจะช่วยลดการบาดเจ็บที่ศีรษะลง หากผู้ปฏิบัติงานลื่นล้มในสถานที่ทำงานเพราะเป็นสถานที่เปียก
- ช่วยเพิ่มโอกาสรอดจากอุบัติเหตุ : ในขณะปฏิบัติงานอาจต้องเผชิญกับอุบัติเหตุ เช่น การเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบขนาดใหญ่ หรือเกิดข้อผิดพลาดในการดูแลชิ้นส่วนงานขนาดใหญ่และร่วงหล่นสู่พื้น ในกรณีเช่นนี้ หมวกนิรภัยจะช่วยลดการบาดเจ็บจากสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
- ช่วยให้การมองเห็นผู้ปฏิบัติงานง่ายขึ้น : เนื่องจากหมวกนิรภัยมีหลายสีและเป็นสีที่สว่างสดใส ดังนั้น การสวมหมวกนิรภัยจะช่วยให้มองเห็นผู้ปฏิบัติงานรวมถึงผู้อื่นที่อยู่ในสถานที่ทำงานได้อย่างง่ายขึ้นทั้งในกลางวันและกลางคืน สีของหมวกนิรภัยยังช่วยแยกว่าใครเป็นใครในสถานที่ทำงาน เช่น ผู้มาเยี่ยมชม (Visitors) ผู้บริหารหรือวิศวกร เป็นต้น
- ช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดด : สำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง เช่น ไซต์ก่อสร้างต่าง ๆ ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับแสงแดดในช่วงกลางวัน การสวมใส่หมวกนิรภัยจะช่วยป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายกับร่างกายได้ และยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคลมแดด (Heatstroke) หรืออาการอ่อนเพลียได้ (Fatigue)
ความหมายของสีหมวกนิรภัย
มาพูดถึงความหมายของสีหมวกนิรภัยที่พบบ่อยที่สุด โดยหมวกนิรภัยมีสีสันมากมายหลากหลายเต็มไปหมด แต่ละสีมีความหมายยังไงบ้าง แต่ละสีมักแสดงถึงที่มาของผู้ผลิตหรือการใช้ที่แตกต่างกันออกไป
สามารถบอกถึงตำแหน่ง หน้าที่ ดังนี้
- หมวกนิรภัยสีเหลือง สำหรับพนักงานทั่วไป
- หมวกนิรภัยสีขาว สำหรับผู้จัดการ ผู้บริหาร วิศวกร หัวหน้างาน และผู้เยี่ยมชม
- หมวกนิรภัยสีน้ำเงิน สำหรับช่างไฟฟ้า ช่างไม้ และเจ้าหน้าที่เทคนิคอื่น ๆ
- หมวกนิรภัยสีเขียว สำหรับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย จป.วิชาชีพ เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการความปลอดภัยในการทำงาน คปอ.
- หมวกนิรภัยสีส้มหรือสีน้ำตาล สำหรับช่างซ่อมบำรุงทั่วไป ผู้ส่งสัญญาณปั้นจั่น ทีมช่วยเหลือ หรือ เจ้าหน้าที่จราจร
- หมวกนิรภัยสีแดง สำหรับเจ้าหน้าที่งานดับเพลิง ช่างเชื่อม และการทำงานที่เกี่ยวกับความร้อน
หมวกนิรภัยสีเทา บางโรงงานหรือองค์กรนำมาใช้สำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมไซต์งาน
วิธีเลือกใช้หมวกนิรภัยให้เหมาะกับการทำงาน
พบกับ 6 วิธี ในการเลือกใช้หมวกนิรภัยให้เหมาะสมกับการทำงาน ซึ่งอุปกรณ์เซฟตี้ชิ้นนี้ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับพนักงานในการปฏิบัติงาน 6 วิธีดังกล่าวคือ
- เลือกใช้หมวกนิรภัยให้เหมาะกับลักษณะงาน เช่น งานก่อสร้าง ต้องใช้หมวกนิรภัยที่มีความแข็งแรงทนแรงกระแทกระดับหนึ่ง
- หมวกนิรภัยต้องได้มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.368-2554) หรือ NSI Z98.1-2003 และเป็นไปตามข้อกำหนดของสถาบันที่น่าเชื่อถือ
- เลือกใช้หมวกนิรภัยที่มีขนาดเหมาะกับศีรษะของผู้สวมใส่ เพื่อไม่ให้คับเกินไป และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน
- หมวกนิรภัยต้องมีสีสันที่เด่นชัด มีน้ำหนักเบา หาซื้อได้ง่ายในราคาที่เหมาะสม
- วิธีการใช้งานหมวกนิรภัยต้องง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
- ควรมีการเปลี่ยนหมวกนิรภัยใหม่ หากมีรอยร้าวจากการได้รับการกระแทกมาแล้ว หรือการสัมผัสกับอากาศที่เป็นพิษ
สรุป
หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์หรือไอเท็มสำหรับความปลอดภัยที่ปกป้องอันตราย อุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่ศีรษะของมนุษย์ อันเนื่องมาจากการทำงานในสถานที่ที่มีความเสี่ยง เช่น ไซต์ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น เพราะอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ คือ สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตหรือความพิการที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานมากที่สุด ดังนั้น นายจ้างหรือผู้ที่รับผิดชอบดูแลสวัสดิภาพของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษนั่นเอง
เอกเครน โลจิสติกส์ เราเป็นผู้นำด้านบริการเช่ารถเครนทุกขนาด ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีทีมงานตลอดให้บริการอยู่ตลอด สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
- โทร. 02-745-9999
- Line: @EKCRANE
- E-mail: [email protected]