จากผลสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ได้รับความนิยมเท่าสมัยก่อน ซึ่งมาจากปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่มองข้ามอาชีพในอุตสาหกรรมนี้ แต่จริง ๆ แล้วอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นกลุ่มอาชีพที่เงินเดือนและค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน่าพึงพอใจ และยังมีอัตราเติบโตในหน้าที่การงานและความมั่นคงในอาชีพที่ค่อนข้างสูง
วันนี้ผมจะมาแนะนำอาชีพที่เด็กรุ่นใหม่บางคนอาจจะยังไม่รู้จักอย่างอาชีพ โฟร์แมน คืออะไร พร้อมบอกรายละเอียดที่คนอยากประกอบอาชีพโฟร์แมนจำต้องรู้ ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลยดีกว่าครับ
ทำความรู้จัก กับ อาชีพโฟร์แมน
หลายคนที่ได้ยินคำว่าอาชีพโฟร์แมน อาจจะสงสัยว่าคืออะไร หรือ อาจจะนึกว่าต้องทำงานใช้แรงงาน งานหนัก งานถึก ซึ่งจริง ๆ แล้วอาชีพโฟร์แมน คือ ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง นั้นหมายความว่าคุณไม่จำเป็นต้องไปยกของ หรือ แบกหามของหนัก ๆ ในระหว่างที่ทำงาน แต่ต้องคอยดูแลควบคุม คุณภาพงานและความเรียบร้อย ให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางเอาไว้นั่นเองครับ
ตำแหน่งโฟร์แมน ทำหน้าที่อะไร
หลังจากที่ทราบกันแล้วว่าโฟร์แมนคืออะไร เรามาดูหน้าที่อาชีพโฟร์แมนกันดีกว่าครับ ว่าจริง ๆ แล้วการเป็นโฟร์แมนต้องรับผิดชอบอะไรบ้างในแต่ละวัน
- วางแผนภาพรวมและทิศทางในการก่อสร้างของโครงการ
- ควบคุมและดูแลการปฏิบัติงานของผู้รับเหมาในการก่อสร้างให้เป็นไปตามที่กำหนด
- ควบคุมการใช้วัสดุของผู้รับเหมา
- ตรวจเช็กสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยกำหนดไว้
- ตรวจสอบและรายงานความก้าวหน้าให้แก่ผู้ว่าจ้าง
- ตรวจสอบและติดตามผลการทำงานของผู้รับเหมาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
- ควบคุมให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด
5 ทักษะที่จำเป็นสำหรับโฟร์แมน
สำหรับผู้ที่สนใจอาชีพโฟร์แมน ผมได้เตรียมทักษะที่จำเป็นมาแนะนำทุกคน โดย 5 ทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพโฟร์แมน คือ
1. ทักษะในการวางแผนงาน
อย่างที่ผมได้พูดไปก่อนหน้านี้ครับว่า คนที่เป็นโฟร์แมนไม่จำเป็นต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่เอง แต่คุณต้องคอยควบคุมการก่อสร้างของโครงการทั้งหมดให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ซึ่งทักษะที่จำเป็นอย่างแรกที่โฟร์แมนต้องมี คือ ทักษะในการวางแผนงาน แต่ถึงผมจะบอกว่าโฟร์แมนไม่จำเป็นต้องลงไปปฏิบัติงานเอง แต่ถ้าหากคุณไม่เคยลงไปดูหน้างานจริง ๆ หรือ ไม่เคยคุยกับช่างเลย อาจจะทำให้คุณไม่สามารถมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ดังนั้นผมแนะนำว่าโฟร์แมนที่ดีจำเป็นต้องลงไปหน้างานอย่างสม่ำเสมอ อยู่กับช่างและคนงานตั้งแต่ต้นเริ่มโครงการจนจบ การทำแบบนี้เมื่อคุณเจอปัญหาระหว่างก่อสร้างจะสามารถช่วยให้คุณพลิกแพลงสถานการณ์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
2. ทักษะด้านการติดต่อสื่อสาร ประสานงาน
ทักษะด้านการติดต่อสื่อสารและประสานงาน เป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพโฟร์แมน เพราะเป็นอาชีพที่ต้องพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด ความต้องการ ปัญหา และข้อจำกัดต่าง ๆ ในการก่อสร้างโครงการ โดยโฟร์แมนถือเป็นคนกลาง ระหว่างฝั่งลูกค้าและฝั่งผู้รับเหมา ว่าลูกค้าต้องการอะไร และ ช่างสามารถทำตามได้มากน้อยแค่ไหน หรือ มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ทำให้ทักษะด้านการติดต่อสื่อสารจำเป็นอย่างมากสำหรับอาชีพโฟร์แมน
3. ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะ
ต้องยอมรับครับว่างานก่อสร้างเรามันจะเจอปัญหาหน้างานเกือบตลอดเวลา หรือเรียกได้ว่าในทุก ๆ วัน และบางปัญหาก็มักจะเป็นปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน เช่น สั่งของไปแต่ของมาไม่ครบทำให้วัสดุไม่พอ ขนส่งติดปัญหา เครื่องจักรเสีย สั่งอย่างหนึ่งแต่ช่างทำอีกอย่าง หรือ ปัญหาคนงานทะเลาะกันเอง ทำให้ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะ เป็นอีกหนึ่งทักษะที่โฟร์แมนจำเป็นต้องมี
4. ทักษะเรื่องต้นทุน
อย่างที่เรารู้กันว่าโฟร์แมนจำเป็นต้องวางแผนงานก่อสร้างของโครงการ ซึ่งการที่จะวางแผนได้จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับต้นทุน และ ราคาวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้ต้นทุนเป็นไปตามที่กำหนดและตกลงกันไว้ ดังนั้นโฟร์แมนจำเป็นต้องมีทักษะในการคำนวณและวางแผนเรื่องต้นทุนด้วยครับ
5. ทักษะด้านการบริหารจัดการงาน
โฟร์แมนคืออาชีพที่ต้องคอยควบคุมคนงานและกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามแผน ดังนั้นทักษะที่ขาดไม่ได้เลยคือทักษะด้านการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารคน หรือ บริหารงานก็ตาม ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้นำทุกคนจำเป็นต้องมีด้วยครับ
สรุป
หลังจากที่อ่านบทความนี้แล้ว ผมหวังว่าทุกคนน่าจะเข้าใจว่าอาชีพโฟร์แมนคืออะไร มีหน้าที่ และมีความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างมากแค่ไหน ทั้งนี้สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดสาระน่ารู้ดี ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง สามารถดูบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ EK CRANE คลิกได้เลยครับ!
สำหรับผู้ที่สนใจเช่ารถเครนประเภทต่าง ๆ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เอกเครน โลจิสติกส์ ผู้นำด้านบริการเช่ารถเครนทุกขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
- โทร. 02-745-9999
- Line: @EKCRANE
- E-mail: [email protected]