รู้จัก การยศาสตร์ (ERGONOMIC) เพื่อลดการบาดเจ็บและเสริมประสิทธิภาพการทำงาน

อาการเจ็บป่วยที่คนวัยทำงานเป็นกันมากขึ้นในทุกวันนี้ คือความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก โดยเฉพาะพนักงานในโรงงาน และพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ นอกจากเป็นเพราะท่าทางของเราในระหว่างที่ทำงาน เช่น นั่งทำงานผิดท่า หรือโหมใช้งานร่างกายหนักเกินไปและยังเป็นเพราะการออกแบบสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้น ไม่เป็นไปตามหลัก Ergonomics หรือไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคนเราอีกด้วย นั่นทำให้คำว่า Ergonomics หรือ การยศาสตร์ กลายเป็นสิ่งที่คนพูดถึงมากขึ้น ดังนั้น บทความนี้จึงเชิญชวนให้มาทำความรู้จักกับ Ergonomics หรือ การยศาสตร์ ว่าคืออะไร และจะลดความเสี่ยงในการทำงานได้อย่างไร เพื่อให้คนในองค์กรได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีความสุขไปกับการทำงานนั่นเอง

Ergonomics

การยศาสตร์ คือ 

การยศาสตร์ หรือ Ergonomics มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก โดยคำว่า Ergon หมายถึง งาน และคำว่า Nomos หมายถึง กฎตามธรรมชาติ (Natural Laws) เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นคำว่า “Laws of Work” หรือที่แปลว่า “ศาสตร์แห่งการทำงาน” โดยเป็นศาสตร์ที่ศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างงาน คนทำงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จนกลายเป็นการออกแบบวิธีการทำงานที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอันตรายต่อคนทำงานน้อยที่สุด 

โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 

  1. ลดข้อผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน 
  2. เพิ่มความปลอดภัย ลดความเหนื่อยล้าและความเครียด เพิ่มความสะดวกสบาย รวมถึงการเพิ่ม ความพึงพอใจในงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน 

การยศาสตร์ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ 

การยศาสตร์เป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้หลักการทางด้านสรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์และจิตวิทยา เพื่อขจัดสิ่งที่อาจเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความไม่สะดวกสบาย ปวดเมื่อย หรือมีสุขภาพอนามัยที่ไม่ดีเนื่องจากการที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ การยศาสตร์จึงสามารถนำไปใช้ในการป้องกันมิให้มีการออกแบบงานที่ไม่เหมาะสมที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน โดยให้มีการนำการยศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบงาน เครื่องมือ หรือหน่วยที่ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น เลือกใช้โต๊ะที่ปรับระดับความสูงต่ำได้ เพราะผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนมีความสูงที่แตกต่างกัน และการจัดตำแหน่งของโต๊ะทำงานต้องเหมาะสมกับลักษณะงานของแต่ละฝ่าย เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างสะดวก และเพื่อป้องกันอาการเมื่อยล้าจากการทำงานด้วยท่าทางที่ไม่ถนัด หรือการเลือกเก้าอี้ที่ใช้ในการทำงาน ควรจะเป็นเก้าอี้ที่มีพนักพิง และอาจมีเบาะรองนั่งให้ผู้ปฏิบัติงานตามความเหมาะสมนั่นเอง 

จากข้างต้นองค์ประกอบของการยศาสตร์ สามารถจัดหมวดหมู่ได้ 3 กลุ่มได้แก่

1. สรีรวิทยา

เป็นการศึกษาขนาดของมนุษย์ โดยมุ่งพิจารณาถึงปัญหาที่อาจเกิดจากขนาดของคน รูปร่างของคน และท่าทางหรืออิริยาบถการทำงานของคน นอกจากนี้ยังสำรวจ ชีวกลศาสตร์ ที่ศึกษาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้แรงในระหว่างการทำงานของคนด้วย

2. กายวิภาคศาสตร์

เป็นการศึกษาและพิจารณาถึงการใช้พลังงานในขณะทำงาน ถ้าหากงานนั้นเป็นงานหนัก พลังงานที่ต้องใช้ไปก็ต้องมากซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ เป็นต้น รวมไปถึงการศึกษาสรีรวิทยาสิ่งแวดล้อม มุ่งพิจารณาถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น ความร้อน แสง เสียง ความสั่นสะเทือน เป็นต้น

3. จิตวิทยา

ในกลุ่มนี้จะกล่าวถึงความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในลักษณะงานของบุคคล ว่าควรจะทำงานอะไร และทำอย่างไร ตลอดจนการตัดสินใจในการทำงานนั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งนอกจากจะเกิดความเสียหายต่อการผลิตแล้วนั้น อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน

ท่านั่งที่ถูกต้อง

ประโยชน์ของการนำการยศาสตร์มาใช้ในที่ทำงาน

  1. ลดต้นทุน

ค่าใช้จ่ายทางการรักษาพยาบาล ค่าชดเชย ค่าแรง เป็นต้น

  1. เพิ่มผลผลิต

เมื่อมีการปรับปรุงในสายการผลิต  ผู้ปฏิบัติงานมีท่าทางที่ดี ออกแรงหรือเคลื่อนไหวน้อย ปรับความสูงและระยะเอื้อมได้ดีขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น

  1. ปรับปรุงคุณภาพ

หากผู้ปฏิบัติงานเจ็บป่วย เหนื่อยล้า หรือท้อแท้กับการทำงาน สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติงานได้ ซึ่งส่งผลให้การทำงานออกมาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 

  1. เพิ่มการมีส่วนร่วมของบุคลากร

เมื่อองค์กรใดที่พยายามอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนาองค์กรเพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานของพวกเขามีสุขภาพและความปลอดภัย พนักงานในบริษัทมีแนวโน้มที่จะให้ความร่วมมือและแจ้งให้ทราบหากพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้าและไม่สบายตัวระหว่างทำงาน เมื่อเป็นเช่นนี้องค์กรจะสามารถลดอัตราการลาออก ลดการขาดงาน เพิ่มขวัญกำลังใจ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน

  1. สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

การนำหลักการยศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในองค์กรแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพเป็นค่านิยมหลัก การสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงานจะนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมในทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับองค์กรของคุณเป็นอย่างแน่นอน

สรุป

การยศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งหากได้มีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถนำไปสู่การปรับปรุงสภาพการทำงาน โดยให้มีการออกแบบงานที่จะต้องปฏิบัติ กำหนดรายละเอียดของเนื้องาน วิธีการจับถือและการใช้อุปกรณ์การติดตั้งอุปกรณ์ ฯลฯ อย่างเหมาะสม การปฏิบัติตามหลักการยศาสตร์ จะสามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยทั้งต่อร่างกายหรือจิตใจ ที่มีสาเหตุจากการไม่ได้นำหลักการยศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในสถานที่ทำงาน และการดำเนินการปรับปรุงทางด้านการยศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนแต่ประการใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน พนักงาน และฝ่ายบริหาร ควรที่จะร่วมมือกันในการดำเนินการค้นหาปัญหา ประเมินปัญหาเพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ถูกต้อง

หากคุณไม่อยากพลาดข่าวสาร และสาระดี ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง รถเครน และปั้นจั่นสามารถติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ EK CRANE เรามีอัปเดตสาระน่ารู้ใหม่ ๆ ให้อยู่เสมอ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่สนใจเช่ารถเครนประเภทต่าง ๆ เอกเครน โลจิสติกส์ ผู้นำด้านบริการเช่ารถเครนทุกขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรามีทีมงานตลอดให้บริการอยู่ตลอด สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

เราให้ทีมเซลล์ติดต่อกลับหาคุณได้
ใส่เบอร์โทรด้านล่างได้เลย